ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.ปัตตานี ได้เข้าตรวจสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ อาหารทารกสำหรับทารกที่แพ้โปรตีนนมวัวหรือมีภาวะโคลิคเนื่องจากไวต่อการแพ้โปรตีนนมวัว (เครื่องหมายการค้า ซิมิแลค อลิเมนทัม เอไอ.คิว พลัส) (อาหารทางการแพทย์) เลขสารบบอาหาร 10-3-146231-0121 โดยได้เข้าตรวจได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กและทารก ประสานงานกับผู้รับอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน และคลินิกเอกชนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เก็บคืนสินค้าส่งบริษัทหากมีการจำหน่ายทันที เบื้องต้น ไม่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคท่านใดพบการจำหน่าย หรือกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการต่อไป หรือโทรแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ที่ 073-460310
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวทางเว็บไซต์ www.infoques.co.th กรณีสำนักงานศุลกากรจีน (GAG) ไ้ด้เผยแพร่ข้อความเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ ประกาศเตือนผู้บริโภคห้ามซื้อและรับประทานผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิดและเด็กอ่อนบางสูตรของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส หลังบริษัทฯ ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนซึ่งเชื่อมโยงกับโรงงานผลิตในสหรัฐ โดยอ้างถึง ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ได้แจ้งเตือนในกรณีบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ กำลังเรียกคืนผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็ก รวมถึงนมซิมิแลค ซึ่งผลิตที่โรงงานแห่งหนึ่งในรัฐมิชิแกน หลังผู้บริโภค 4 ราย ร้องเรียนว่าเด็กที่ทานนมดังกล่าวติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ กองอาหารได้ตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎเป็นข่าวพบ ผลิตภัณฑ์ จำนวน 1 รายการ คือ อาหารทารกสำหรับทารก ที่แพ้โปรตีนนมวัวหรือมีภาวะโคลิคเนื่องจากไวต่อการแพ้โปรตีนนมวัว (เครื่องหมายการค้า ซิมิแลค อลิเมนทัม เอไอ.คิว พลัส)(อาหารทางการแพทย์) เลขสารบบอาหาร 10-3-146231-0121 ทั้งนี้บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ได้มีหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง แจ้งการเรียกคืนผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจ โดย บริษัทฯ ได้ชี้แจงเหตุการณ์ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่า การร้องเรียนในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในระหว่างเดือน ก.ย. 2564 ถึงสิ้นเดือน มกราคม 2565 โดยการร้องเรียน จำนวน 3 ราย เกี่ยวข้องกับเชื้อ Cronobacter sakazakii ส่วนอีก 1 ราย เกี่ยวข้องกับเชื้อ Salmonella ซึ่งจากข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้วในผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบ และ แอ๊บบอต ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนข้างต้นอย่างถี่ถ้วนและสื่อสารกับองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เพื่อความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านคุณภาพมาตรฐานของแอ๊บบอต อย่างไรก็ตามจากบริบทข้างต้น บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จะติดต่อลูกค้าเพื่อรับคืนผลิตภัณฑ์อาหารตามข้างต้นที่ประสงค์เรียกคืนโดยสมัครใจ และจะส่งแผนการดำเนินการเรียกคืนอย่างเป็นทางการให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป อนึ่ง ผลิตภัณฑ์โภชนาการอื่นของบริษัทฯ ที่จำหน่ายในประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนและยังคงมีความปลอดภัยในการบริโภค
ทั้งนี้ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะได้ตรวจสอบบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด และสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารตามที่ปรากฎเป็นข่าวส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาเชื้อจุลินทรีย์ Cronobacter sakazakii และเชื้อ Salmonella ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อไป
ข่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา: https://gnews.apps.go.th/news?news=105451


