มาตรา 9
ภายใต้บังคับมาตรา 14 และมาตรา 15 หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
1. ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
1) เป็นกรณีที่เอกชนยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้พิจารณาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การขออนุญาตการขออนุมัติ
2) เป็นกรณีที่เอกชนโต้แย้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการอุทธรณ์ไปยังผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณา
2. นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 7(4)
เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับรู้เพื่อให้เกิดความร่วมมือในทางปฏิบัติหรือเพื่อให้ข้อแนะนำต่อนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐดังกล่าว อันเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น
1) นโยบายพลังงานแห่งชาติ
2) นโยบายตำรวจแห่งชาติ
3. แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของปีที่กำลังดำเนินการ
ถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่สำคัญไม่เฉพาะเพื่อให้ผู้รับเหมาหรือผู้ประกอบการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่ตลอดจนแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เช่น
1) แผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวของหน่วยงาน
2) แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด
3) งบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการอุดหนุนจากรัฐ
4) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
4. คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คู่มือหรือคำสั่งนี้มีที่มาสองทาง คือ หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ตราหรือกำหนดให้มีทางหนึ่งและหน่วยงานอื่นเป็นผู้ตราหรือกำหนดมีผลให้หน่วยงานของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติอีกทางหนึ่ง เช่น กระทรวงมหาดไทยในฐานะองค์กรกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เช่น
1) คู่มือการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร
2) คู่มือการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
3) คู่มือขออนุญาตตั้งโรงแรม
5. สิ่งพิมพ์ที่อ้างอิงถึงในราชกิจจานุเบกษา
ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่เป็นสิ่งพิมพ์ไว้แล้วไม่จำเป็นต้องนำลงในราชกิจจานุเบกษาอีกเพียงแต่อ้างอิงไว้ในราชกิจจานุเบกษาว่าได้มีการพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวแล้ว และต้องจัดให้มีสิ่งพิมพ์นั้นไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ เพื่อป้องกันปัญหาในกรณีจัดหาภายหลังไม่สะดวก
6. สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
1) สัญญาสัมปทาน ได้แก่ สัญญาที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การเดินรถประจำทาง เป็นต้น หรือสัญญาให้เอกชนจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำไม้ การทำเหมือนแร่ เป็นต้น
2) สัญญาผูกขาดตัดตอน คือ สัญญาที่ให้สิทธิเอกชนกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว เช่นสัญญาให้ผลิตสุราเป็นต้น
3) สัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ คือ กิจการที่เป็นของรัฐ แต่มีการร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำ เช่น สัญญาให้บริการโทรศัพท์ เป็นต้น
7. มติคณะรัฐมนตรี มติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมายหรือโดยมติคณะรัฐมนตรี
มติของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย มีความสำคัญในการบริหารราชการ เช่น
1) มติคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
2) มติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร
3) มติคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
8. ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด
ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนดซึ่งมีอยู่ 3 ฉบับ คือ
1) ประกาศประกวดราคา และประกาศสอบราคาของหน่วยงานของรัฐ
2) ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสรุปผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างในรอบเดือนของหน่วยงานของรัฐ (แบบ สขร.1)
3) ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ